ท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ทริปสนุกที่รักโลกไปด้วยกันได้

ท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ทริปสนุกที่รักโลกไปด้วยกันได้

ท่องเที่ยวแบบ Low Carbon กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคที่ทุกคนตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่หลายคนอาจสงสัยว่าจะเที่ยวยังไงให้สนุกและเป็นมิตรกับโลกไปพร้อม ๆ กัน วันนี้พี่หมีมีคำตอบ!

5 วิธี ท่องเที่ยวแบบ Low Carbon

1. เริ่มต้นง่าย ๆ แค่วางแผนทริปให้เป็น

การเที่ยวแบบ Low Carbon คือทำยังไงก็ได้ให้การเดินทางท่องเที่ยวของเราผลิต Carbon ออกมาได้น้อยยยยที่สุด ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน เลือกจุดหมายที่ไม่ไกลเกินไป หรือการเดินทางทริปกับครอบครัวหรือแก๊งค์เพื่อนก็ควรจะเลือกรถยนต์ที่เป็นในรูปแบบของรถไฟฟ้า หรือ Hybrid เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น 

ถ้าเป็นไปได้ใครที่เป็นสายชิล หรือเดินทางคนเดียว อยากให้ทุกคนลองเลือกเดินทางด้วยรถไฟหรือรถโดยสารสาธารณะแทนเครื่องบิน นอกจากจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังได้ชมวิวระหว่างทางแบบชิล ๆ อีกด้วย ถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่พี่หมีคิดว่าสายที่ชื่นชอบการเที่ยวคนเดียวน่าจะชอบน้า

ท่องเที่ยวแบบ Low Carbon

2. เลือกที่พักที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

โฮมสเตย์หรือที่พักขนาดเล็กในชุมชนเป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากจะใช้พลังงานน้อยกว่าโรงแรมขนาดใหญ่แล้ว ยังได้สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นแบบใกล้ชิด บางที่มีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ทำ เช่น ทำอาหารพื้นบ้าน เรียนรู้งานหัตถกรรม หรือทำเกษตรอินทรีย์

ซึ่งในปัจจุบัน แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแบบนี้ มักจะมีการจัดกิจกรรม หรือ Workshop ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่นได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

3. เที่ยวชมเมืองแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ลองเปลี่ยนจากการนั่งรถเที่ยวมาเป็นการปั่นจักรยานหรือเดินชมเมืองดูบ้าง! นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้สำรวจตรอกซอกซอยที่รถเข้าไม่ถึง เจอร้านเด็ดๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จัก หรือพบมุมถ่ายรูปสวย ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ซึ่งเดี๋ยวนี้พี่หมีเห็นว่าหลาย ๆ ที่ เขาก็จะมีการจัดกิจกรรมให้เราลงทะเบียน สำหรับเดินเล่นชมเมืองกับชาวแกงค์ที่ชื่นชอบเรื่องนี้เหมือนกับเรา ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ทั้งยังได้รู้จักร้านค้าท้องถิ่น รวมไปถึงได้เห็นเมืองในมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิมอีกด้วย

4. กินอยู่แบบ Local

ลองชิมอาหารท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล นอกจากจะได้ลิ้มรสอาหารที่สดใหม่แล้ว ยังช่วยลดการขนส่งวัตถุดิบจากที่ไกล ๆ อีกด้วย และที่สำคัญ เงินของเราจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง

เพราะต้องบอกเลยว่าตอนนี้ หลาย ๆ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและโรงแรม ได้มีการนำวัตถุดิบจากท้องถิ่นหรือชุมชนเข้ามาประกอบอาหารมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในบ้านเราได้เป็นอย่างดี

5. เที่ยวแบบ Zero Waste

พกขวดน้ำส่วนตัว กระเป๋าผ้า และอุปกรณ์ทานอาหารไปด้วย จะได้ไม่ต้องใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ถ้าอยากซื้อของฝาก ก็เลือกผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แนะนำสถานที่เที่ยว 4 ภาคแบบ Low Carbon 

เหนือ

  • ชุมชนบ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ ชุมชนกลางหุบเขาที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เดินเที่ยวชมธรรมชาติ น้ำตก ดื่มกาแฟสด เรียนรู้การทำน้ำพริก และพักโฮมสเตย์กับชาวบ้าน
  • ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย หมู่บ้านที่รักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม มีกิจกรรมทอผ้าหมักโคลน ทำขนมไทยโบราณ และชมสวนเกษตรอินทรีย์

กลาง

  • เกาะเกร็ด จ.นนทบุรีเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่คุณสามารถปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชุมชนมอญ ชิมขนมหวาน และเรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผา
  • อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ล่องเรือชมหิ่งห้อย เดินตลาดน้ำ พักโฮมสเตย์ริมคลอง และเยี่ยมชมสวนมะพร้าวแบบอินทรีย์

อีสาน

  • บ้านภู จ.มุกดาหารชุมชนที่อนุรักษ์ป่าไม้ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมภาพเขียนสีโบราณ และพักแบบโฮมสเตย์
  • บ้านเชียง จ.อุดรธานี แหล่งโบราณคดีสำคัญที่คุณสามารถปั่นจักรยานชมพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผา และพักกับชาวบ้าน

ใต้

  • เกาะยาวน้อย จ.พังงา เกาะที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ปั่นจักรยานรอบเกาะ ดำน้ำดูปะการัง และพักในรีสอร์ทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง จ.กระบี่ หมู่บ้านชาวประมงที่อนุรักษ์ป่าชายเลน มีกิจกรรมพายเรือคายัค ดูนก และเรียนรู้การทำประมงพื้นบ้าน

สุดท้ายนี้ การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ไม่ได้ทำให้ทริปของเราสนุกน้อยลงเลย แถมยังได้ประสบการณ์แปลกใหม่ที่มีคุณค่า และที่สำคัญคือได้มีส่วนร่วมในการดูแลโลกใบนี้ไปด้วย 

รู้แบบนี้แล้ว อยากจะเริ่มต้นทริปหน้าด้วยการเที่ยวแบบ Low Carbon แบบพี่หมีกันไหมฮะ? 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่
Facebook: ECOLIFE
Website: คิดคิด / ECOLIFE
LINE OA: @ECOLIFEapp

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่

RELATED POST