หมูขึ้นราคา ในรอบ 2 ปี ผลกระทบจากโลกร้อนที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตน้อย ต้นทุนในการเลี้ยงสูงขึ้น ปศุสัตว์และเกษตรกรหลายเจ้าเลิกกิจการ
ในช่วงเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมานี้ราคาเนื้อหมูในตลาดเริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลสำรวจจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่า ราคาหมูในปีนี้ สูงขึ้นกว่าในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

ราคาหมูหน้าฟาร์ม เพิ่มขึ้นเป็น 75 บาท/กก. จาก 69 บาท/กก. ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 14.1%
หมูเนื้อแดง อยู่ที่ 147 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจาก 132 บาท/กก. หรือโต 15.0%
หมูสามชั้น แตะ 203 บาท/กก. สูงที่สุดในรอบ 2 ปี เพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อน
หมูขึ้นราคา แล้วโลกร้อนมีผลอย่างไร?

- ผลผลิตลดลงจากอากาศร้อน ผลสำรวจพบว่า ปริมาณหมูในระบบลดลงราว 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักคืออากาศที่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อน ทำให้หมูโตช้า และบางส่วนตายก่อนถึงวัยจำหน่าย
- ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ราคาอาหารสัตว์ขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะข้าวโพดอาหารสัตว์ (+2.3%) และถั่วเหลือง (+3.1%) ส่งผลให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น บางรายถึงขั้นหยุดเลี้ยงหรือปรับลดจำนวนลง
- ความต้องการพุ่งช่วงสงกรานต์ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ความต้องการบริโภคหมูพุ่งสูง โดยเฉพาะจากภัตตาคาร โรงแรม และตลาดสด ทำให้ราคาขยับตัวเร็วขึ้น จากการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบในปริมาณจำกัด
- โครงสร้างอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นเต็มที่ หลังการระบาดของโรค ASF (African Swine Fever) หลายฟาร์มยังไม่สามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้ตามปกติ ผู้เลี้ยงรายย่อยบางส่วนยังขาดทุนสะสม และไม่พร้อมลงทุนใหม่
ราคาหมูที่สูงขึ้น ไม่ได้กระทบเพียงผู้บริโภค

เกษตรกรรายย่อย – แม้ราคาขายจะสูงขึ้น แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านอาหารสัตว์ ยา และค่าแรง ทำให้บางรายยังไม่มีกำไร หรือจำเป็นต้องเลิกกิจการ
ผู้ค้าหมูในตลาดสด – ต้องเผชิญต้นทุนหน้าฟาร์มที่เพิ่มขึ้น แต่หากปรับราคาขายมากเกินไป อาจเสียลูกค้า
ผู้ผลิตหมูแปรรูป – ต้องปรับสูตร ลดขนาด หรือปรับราคาสินค้าเพื่อให้สอดรับต้นทุน
ร้านอาหารและผู้บริโภค – ร้านหมูกระทะ ร้านข้าวแกง ภัตตาคาร อาจต้องปรับเมนู ลดปริมาณ หรือเลือกใช้วัตถุดิบอื่น เช่น ไก่ ปลา หรือเนื้อวัวแทน
“เรื่องของวัตถุดิบและอาหารที่ราคาสูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราเพิ่งจะเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขึ้นราคาเนื่องจากผลผลิตลดลงเพราะโลกร้อน”
ยิ่งกับในปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าสภาพอากาศส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ สำคัญต่อการเจริญเติบโตและความเป็นอยู่ของปศุสัตว์ หากอุณหภูมิของโลกยิ่งสูงขึ้น ก็ไม่แปลกที่ราคาวัตถุดิบและอาหารจะสูงขึ้นตาม หากเราไม่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาใส่ใจโลกอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ ความเป็นอยู่ของเราจะลำบากขึ้นอย่างแน่นอน
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่
Facebook: ECOLIFE
LINE OA: @ECOLIFEapp