ขยะพลาสติก เป็นขยะที่มีในทุกอุตสาหกรรม ยิ่งนับวันยิ่งเป็นการสร้างปัญหาและมลพิษที่ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบต่อชุมชน และผู้คนที่อาศัยอยู่บนโลกอีกด้วย
ยิ่งในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถสั่งซื้อได้เพียงแค่คลิกเดียว ส่งผลให้เป็นเรื่องง่ายที่เราจะสร้างขยะในปริมาณมหาศาล โดยที่ลืมนึกไปว่าสิ่งอำนวยความสะดวกนี้ กำลังสร้างหายนะให้กับโลกทั้งใบ
ขยะพลาสติก ในยุคที่ E-Commerce รุ่งเรือง

นับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 การชอปปิ้งหรือซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนไม่สามารถที่จะออกไปซื้อของข้างนอกได้ ดังนั้นการช้อปออนไลน์ จึงเป็นทางออกที่ง่ายและสะดวกที่สุด และนับแต่นั้นมา การตลาดออนไลน์หรือ E-Commerce ก็ค่อย ๆ เติบโตมากยิ่งขึ้น
“ทว่าเมื่อมีการขนส่ง ก็นำมาซึ่งขยะจากโลจิสติกส์”
ขยะบรรจุภัณฑ์นับว่าเป็นขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในทุกปี ทั้งกล่องหรือซองบรรจุ บับเบิ้ลกันกระแทก ที่หลากหลายแบรนด์มักจะห่อมาซะหนา เพื่อป้องกันการได้คะแนน 1 ดาวจากการขนส่ง ทั้ง ๆ ที่ของข้างในไม่จำเป็นที่จะต้องห่อพลาสกกันกระแทกเลยแม้แต่น้อย และเมื่อผู้ซื้อได้รับบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไป น้อยคนนักที่จะเก็บไว้ใช้ต่อ ทำให้บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ กลายเป็นขยะไปโดยปริยาย แม้จะถูกใช้เพียงแค่ครั้งเดียว

นอกจากนี้แพลตฟอร์มการช้อปออนไลน์ ทำให้เราสามารถเข้าถึงสินค้าได้หลากหลาย ทั้งยังมีตัวเลือกที่เยอะมากยิ่งขึ้น และนับวันที่เศรษฐกิจเริ่มแย่ลง ก็ส่งผลให้ผู้คนมองหาสินค้าราคาถูก มากกว่าสินค้าที่คุณภาพดี ทำให้อุตสาหกรรม Fast Fashion เติบโตในยุคนี้ด้วยเช่นกัน
“ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลจากบรรจุภัณฑ์ และสินค้าราคาถูกที่ใช้แล้วทิ้ง
ไร้ซึ่งความยั่งยืน”
ถึงเวลาที่แบรนด์ต้องรับผิดชอบ
จากข้อมูลของ Action Network ระบุเอาไว้ว่า ณ เวลานี้ ถึงคราวแล้วที่แบรนด์ใหญ่ ควรจะต้องออกมารับผิดชอบในการสร้างปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง และรับผิดชอบต่อการผลิตสินค้า Fast Fashion ไม่ว่าจะเป็น Adidas, Amazon, Apple, H&M, Shein และ Unilever โดยเฉพาะจากผลิตภัณฑ์ที่:
- บรรจุในพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้
- ถูกออกแบบมาให้พังง่ายและถูกแทนที่เร็ว
- ผลิตออกมาในปริมาณมากโดยไม่สนใจผลกระทบระยะยาว
การเปลี่ยนแปลงที่ผู้บริโภคอยากเห็น

คือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม โดยการปรับเปลี่ยนการผลิตและการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ให้มีคุณภาพ และรับผิดชอบต่อโลกมากยิ่งขึ้น และนี่คือข้อเรียกร้องสำคัญที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ ควรให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้
- ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกอย่างชัดเจน
- ลดพลาสติกในผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อย่างน้อย 25% ภายในปี 2030
- 50% ภายในปี 2035 และ 75% ภายในปี 2040
- กำหนดเป้าหมายการนำกลับมาใช้ซ้ำ
- สร้างระบบติดตามผลและรายงานความคืบหน้าอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะปีละครั้ง
- ส่งเสริมทางเลือกแบบใช้ซ้ำได้ (Reusable)
- พัฒนาโปรแกรมที่ให้ลูกค้าเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบนำกลับมาใช้ซ้ำได้จริง และขยายให้เข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย
เราทุกคนมีบทบาทในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง สังคมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการร่วมมือจากผู้ผลิตรายใหญ่ และเสียงของผู้บริโภคคือแรงผลักดันที่สำคัญที่สุด ดังนั้นควรเริ่มลด ขยะพลาสติก จากบรรจุภัณฑ์ และเลิกผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็น Fast Fashion เพื่อการบริโภคที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก: Action Network
ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่
Facebook: ECOLIFE
LINE OA: @ECOLIFEapp